สินค้า OTOP ของสุราษฏร์

สินค้าOTOPของสุราษฎร์


ไข่เค็มไชยา



ที่อำเภอไชยา เป็นไข่เค็มที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป การทำไข่เค็มไชยา ใช้ไข่เป็ดจากอำเภอไชยา มีไข่แดงมากและไม่คาวเหมือนไข่เป็ดทั่วไป จากนั้นเอาดินจาก จอมปลวกมาตำให้ละเอียด ร่อนเอาเฉพาะที่ละเอียด แยกเอากรวด ทราย ออกให้หมดคลุก ด้วยน้ำและเกลือให้ดินค่อนข้างเหนียว แล้วเอาดินนี้หุ้มไข่เป็ด หลังจากนั้นนำไปคลุกกับ ขี้เถ้าแกลบ เป็นอันเสร็จ กระบวนการทำไข่เค็มไชยา แล้วจึงนำมาบรรจุหีบห่อเพื่อจำหน่าย มีฉลากบอกระยะเวลาไว้ว่า เมื่อใดเหมาะสำหรับทอดไข่ดาว เมื่อใดเหมาะสำหรับต้ม
ขนมจั้ง



ขนมจั้งนิยมทำกันมากในอำเภอไชยา เครื่องปรุงขนมชนิดนี้ ประกอบด้วยข้าวเหนียว น้ำ และน้ำด่างโดยนำข้าวเหนียวแช่น้ำด่างประมาณ 3-5 ชั่วโมง ต่อจากนั้น นำข้าวเหนียวมาห่อด้วยใบไผ่แนะห่อเสร็จเรียบร้อยแล้วนำจั้งไปต้มจนกว่าจะสุก ก็จะได้จั้งตามที่ต้องการ ส่วนใหญ่นิยมรับประทานกับน้ำเชื่อม หรือน้ำกะทิก็ได้

ผ้าไหมพุมเรียง



การทอผ้าไหมพุมเรียงเป็นงานหัตถกรรม ที่ทำกันในหมู่บ้านไทยมุสลิม เข้าใจว่าแต่เดิมคงเป็นพวกแขกที่อพยพ หรือถูกกวาดต้อนมาจากไทรบุรี พร้อมๆ กับช่างทอผ้าที่เมืองนครศรีธรรมราชบ้างก็สันนิษฐานว่า ไทยมุสลิมที่พุมเรียงอาจจะเป็นชาวปัตตานี เพราะอารยธรรมสูงกว่าที่อื่น แล้วมาอาศัยอยู่ที่ตำบลพุมเรียง การทอผ้าพุมเรียง ชาวบ้านไม่ได้เลี้ยงไหมเอง ไหมที่ใช้ทอเป็นไหมจากญี่ปุ่น และสั่งซื้อจากกรุงเทพฯ โดยนิยมทอผ้าด้วยกี่กระตุก ลวดลายต่างๆที่ประดิษฐ์ขึ้นเป็นของชาวบ้านพุมเรียง โดยเฉพาะในปัจจุบัน มี 5 ลาย ได้แก่ ลายราชวัตร ลายดอกพิกุล ลาบดอกโคม ลายนพเก้า และลายยกเบ็ด

หมวกพุมเรียง



หมวกพุมเรียงเป็นงานหัตถกรรม ที่ชาวพุมเรียงทำสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าเริ่มทำกันมาตั้งแต่สมัยใด รู้แต่ว่าทำกันมากในกลุ่มของชาวพุทธ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา การทำหมวกพุมเรียงทำจากวัสดุหลายอย่างด้วยกันคือ ปอแก้ว ใบลาน หรือใบตาล ลักษณะของหมวกพุมเรียงที่แปลกไปจากหมวกสานของที่อื่นคือ การสานจะเป็นลักษณะเส้นยาวก่อนแล้วจึงนำมาเย็บเป็นรูปทรงหมวกภายหลัง ซึ่งหมวกลักษณะนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า หมวกรานี

เงาะพันธุ์โรงเรียน



เป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และของประเทศ เป็นเงาะที่มีรสชาติหวานและกรอบ ปลูกกันมากในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลมีลักษณะโต เปลือกบาง แม้สุกจัดปลายเส้นขนยังมีสีเขียว ลักษณะต้นเป็นพุ่มไม่สูง

หอยใหญ่ (หอยนางรม)





หอยนางรมสุราษฎร์ธานีเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่นักบริโภคว่า เป็นอาหารทะเลที่รสชาติขึ้นชื่อ คุณสมบัติที่สร้างคุณค่าหอยนางรมคือ เนื้อในขาวสะอาด รสออกหวาน ไม่มีกลิ่นคาว มีคุณค่าทางอาหารสูง
หอยนางรมเริ่มเพาะเลี้ยงประมาณปี 2504 ทดลองเลี้ยงที่แหลมซุย อำเภอไชยา ต่อมาได้เพาะเลี้ยงที่บริเวณปากคลองท่าทอง และปากคลองกะแดะ อำเภอกาญจนดิษฐ์ หอยนางรมมี 2 ชนิดคือ ชนิดพันธุ์เล็ก เรียกว่าหอยเจาะ ชนิดพันธุ์ใหญ่ เรียกว่าหอยตะโกรม 

หอยขาวพุมเรียง


หอยขาวพุมเรียง เป็นอาหารทะเลที่มีชื่อเสียงของอำเภอไชยา สามารถหาบริโภคได้เฉพาะที่พุมเรียงเท่านั้น หอยนางรม หอยนางรมสุราษฎร์ธานีเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่นักบริโภคว่า สด ตัวใหญ่ รสหวาน เนื้อในขาว มีคุณค่าทางอาหารสูง หอยนางรมเริ่มเพาะเลี้ยงประมาณปี ๒๕๐๔ ทดลองเลี้ยงที่แหลมซุย อำเภอไชยา ต่อมาได้เพาะเลี้ยงที่บริเวณปากคลองท่าทอง และปากคลองกะแดะ อำเภอกาญจนดิษฐ์ หอยนางรมมี ๒ ชนิดคือ ชนิดพันธุ์เล็ก เรียกว่าหอยเจาะ ชนิดพันธุ์ใหญ่ เรียกว่าหอยตะโกรม ลักษณะเป็นหอย ๒ ฝา พบทั่วไปบริเวณน้ำตื้นชายฝั่ง หอยนางรมจะออกวางไข่ตลอดปี แต่จะมีมากในเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน หอยนางรมจะวางไข่ครั้งหนึ่งประมาณ ๑-๙ ล้านฟอง

ผลิตภัณฑ์จากกระจูด 


กลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานกระจูดบ้านห้วยลึก ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระจูด หัตถกรรมจักสานจากต้นกระจูดในรูปแบบเครื่องจักสาน และการตัดเย็บผลิตภัณฑ์กับวัสดุอื่นผสมผสานความทันสมัย เพื่อเป็นของใช้ ของที่ระลึก ของขวัญ ของฝาก ตะกร้าบรรจุภัณฑ์จากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วัสดุตกแต่งภายใน ของใช้ภายในโรงแรม ฯลฯ โดยใช้วัสดุธรรมชาติ เส้นใยจากกระจูดพืชตามธรรมชาติในท้องถิ่นจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งกระจูดเมื่อนำมาผึ่งแดดให้แห้งจะมีคุณสมบัติเป็นเส้นใยที่เหนียว สามารถนำมาทำงานหัตถกรรมเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายรูปแบบ

ผลิตภัณฑ์จากใบยางพารา



ที่อำเภอบ้านนาสาร ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ผีเสื้อ ดอกไม้ เป็นต้น มีจำหน่ายที่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรอำเภอบ้านนาสาร สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านนาสาร โทร. 0 7734 1110 

ที่มา:http://www.toursurat.com/suratthani-souvenir.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น